บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เชฟโรเลต โซนิค คุณภาพดีราคาไม่เเพง


เชฟโรเลต โซนิค คุณภาพดีราคาไม่เเพง
  ไม่ต้องไหว้ครูกันนานครับ สำหรับธุรกิจของจีเอ็มในไทยที่ใช้แบรนด์เชฟโรเลตเป็นหัวหอกในการลุยตลาด หลังบริษัทแม่ปรับโครงสร้างใหม่ลงตัว พร้อมกับโรงงานผลิตรถยนต์-เครื่องยนต์ที่จังหวัดระยองเสร็จสมบูรณ์ ทั้งปิกอัพ “โคโลราโด” พีพีวี “เทรลเบลเซอร์” เอสยูวี “แคปติวา”เก๋งคอมแพกต์ “ครูซ” และล่าสุด “โซนิค” เก๋งซับคอมแพกต์รุ่นใหม่ ต่างทยอยออกมาจากสายการผลิตและลงโชว์รูมให้คนไทยได้เลือกเพียบ
   …รวมๆแล้วศูนย์การผลิตแห่งนี้สามารถเนรมิตรถได้ถึง 6 โมเดล (รวมอาวีโอ 1.6ซีเอ็นจีที่ยังขายอยู่) เครื่องยนต์อีก 15 รุ่น ระบบส่งกำลังกว่า 40 ชุด ซึ่งถือเป็นความทันสมัยบนความยืดหยุ่นของกระบวนการผลิต ที่จีเอ็มลงทุนไปกว่า 30,000 ล้านบาท
ในส่วนของ“โซนิค”ถือเป็นโกลบอลโมเดล (Global model) ตัวสำคัญที่เชฟโรเลตจะใช้ลุยตลาดรถเล็กทั่วโลก ซึ่งเห็นความชัดเจนตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เมื่อผู้บริหารของเชฟโรเลต(จีเอ็ม) เห็นว่ารุ่นเดิมอย่าง “อาวีโอ” ชื่อชั้นยังไม่ติดตาโดนใจลูกค้ามากนัก แถมไม่มีคุณค่าที่สั่งสมให้เหมาะแก่การรักษาชื่อนี้เอาไว้ (เพราะเพิ่งเริ่มขายต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง)
   ขณะเดียวกันทิศทางการพัฒนาเก๋งซับคอมแพกต์รุ่นใหม่ จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นให้ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นการทำตลาดในหลายๆประเทศจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อ“อาวีโอ” ไปเป็น“โซนิค” ที่ดูมีพลังและความกระฉับกระเฉงมากกว่า ซึ่งสัมพันธ์กับรูปลักษณ์อันโฉบเฉี่ยวทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นตัวถังซีดานและแฮทซ์แบก 5 ประตู
     สำหรับประเทศไทย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำ “โซนิค ใหม่” มาอวดโฉมในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2012 ที่ผ่านมา จากนั้นเพิ่งเผยรายละเอียดทางเทคนิคพร้อมราคา และเปิดรับจองอย่างเป็นทางการเมื่อ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งใครจองล็อตแรกสำหรับตัวถังซีดานจะได้รับรถทันทีปลายเดือนนี้ ส่วนตัวถังแฮทช์แบ็กต้องรอไปอีกหนึ่งเดือน
   โดย“โซนิค” ตัวถังซีดาน โครงสร้างใหญ่กว่าอาวีโอเดิมทุกมิติ ด้วยความยาว 4,399 มม.กว้าง 1,735 มม. สูง 1,517 มม. และระยะฐานล้อ 2,525 มม. มาพร้อมหน้าตาคมคาย ผิวพรรณเส้นสายเฉียบคม โดดเด่นกับไฟหน้าคู่ตัดกับเรือนสีดำ กระจังหน้าแบบดูอัลพอร์ตอันเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ไฟท้ายโคมโตเต็มตา
ทั้งนี้ตัวถังซีดานรุ่น LT จะมากับล้ออัลลอยด์ 15 นิ้ว ประกบยางคอนติเนนตัล 195/65 R15 ส่วนLTZ ใช้ 205/45 R16 ขณะที่ตัวถังแฮทช์แบ็กจะมากับล้อขนาด16 นิ้วเป็นมาตรฐาน
       …ดูแล้วเหมือนเชฟโรเลตจะพยายามฉีกหนีความเป็นเกาหลีที่ติดมากับอาวีโอเดิม อย่างการใช้ยางก็เล่นของ “คอนติเนนตัล” ที่สำคัญยังพยายามสื่อสารว่า “โซนิค” ใช้ทั้งแพลตฟอร์ม (Gamma)ที่พัฒนาใหม่ และเครื่องยนต์ใหม่จากยุโรปอีกด้วย
     โดยเครื่องยนต์รหัส A14XFR แถวเรียง 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1398 ซีซี พร้อมวาล์วแปรผัน Double CVC (ไอดี-ไอเสียแปรผัน) ให้กำลังสูงสุด100 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด130 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที ถือเป็นเครื่องยนต์สหกรณ์ที่ใช้ในรถเครือจีเอ็มอย่างว็อกซ์ออลและโอเปิ้ล ด้านระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และธรรมดา 5 สปีด
   แม้เครื่องยนต์ 1.4 ลิตรใหม่จะมีแรงม้ามากกว่าเดิมถึง 6 ตัว (บางประเทศมีรุ่นเทอร์โบ) และเสริมเทคโนโลยีอย่างการควบคุมวาล์วไอดี-ไอเสียแปรผัน และเลือกใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด แต่เมื่อมาเจอกับน้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ระบบขับเคลื่อนชุดนี้ต้องแบกภาระพอสมควร
ผู้เขียนมีโอกาสลองโซนิค ตัวถังซีดาน ทั้งรุ่น1.4LTZ เกียร์อัตโนมัติ (ราคา 6.79 แสนบาท) และ 1.4LT เกียร์ธรรมดา (ราคา 5.88 แสนบาท) โดยรุ่นแรกนั้นการตอบสนองการขับขี่ค่อนข้างอืด และไม่ว่าจะขับย่านความเร็วไหนพลังมาค่อนข้างช้า การไล่ความเร็วจากจุดหยุดนิ่งไปถึง100 กม./ชม ต้องลุ้นกันเหนื่อย บางช่วงผู้เขียนลองกดคันเร่งมิด แต่พบว่ามาแต่เสียงและรอบเครื่องยนต์ที่ดีดสูง 4,000-5,000 ส่วนตัวรถไม่ได้ทะเยอทะยานเท่าไรนัก
     ด้านเกียร์อัตโนมัติอัตราทดชิดทำงานฉับไว และยังมีโหมดเลือกเปลี่ยนเกียร์ด้วยตนเอง โดยเลื่อนคันเกียร์มาตำแหน่งล่างสุดที่ S จากนั้น ผู้ขับสามารถกดปุ่ม +,- ที่หัวเกียร์ได้ตามใจชอบ  อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เขียนเปลี่ยนมาทดสอบรุ่นเกียร์ธรรมดาพบว่าขับขี่สนุกขึ้น น้ำหนักคลัทซ์ไม่นุ่มไม่แข็งจนเกินไป การโยกเปลี่ยนเกียร์ทำได้กระชับแม่นยำ เลือกใช้เกียร์ 3-4 ตัวรถมีอาการฉุด-ดึงให้รู้สึกและพอจะเร่งลุ้นได้สนุก แต่กระนั้นถ้าตัดใจยัดเข้าเกียร์ 5 รถก็จะกลับเข้ามาโหมด “ง่วงอืด” เหมือนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
   แม้“โซนิค”จะไม่ได้ให้พลังแบบ“สะใจ” แต่ผู้เขียนมองว่า ถ้าขับขี่ในเมืองเป็นหลักเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 100 แรงม้า น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานจริง ที่สำคัญเมื่อไปดูจุดเด่นด้านอื่นๆแล้ว “โซนิค”ไม่แพ้ใครแน่นอน              ประการแรกต้องยกให้การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารที่นิ่งเงียบ ทั้งเสียงลมปะทะ เสียงการจราจรจากภายนอก รวมถึงเสียงยางบดพื้นถนน
ถัดมาเป็นเรื่องความแน่นเมื่อขับขี่ความเร็วสูง 120-140 กม./ชม. ช่วงล่างเซ็ทมาหนึบหนับ การเปลี่ยนเลนกะทันหัน ไร้การโยนตัวของห้องโดยสาร ขณะเดียวกันยังจัดการแรงสั่นอาการสะเทือนต่างๆได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นโค้งสั้น โค้งยาว ขึ้นลงคอสะพาน “โซนิค” ให้ความมั่นใจดีทีเดียว ซึ่งสองประเด็นนี้น่าจะเหนือกว่าคู่แข่งแบรนด์ญี่ปุ่น และดีพอๆกับ“ฟอร์ด เฟียสต้า”เลยทีเดียว
ด้านพวงมาลัยแบบแรคแอนพิเนียนยังใช้การผ่อนแรงแบบไฮดรอลิก หรือไม่ใช่ไฟฟ้าตามสมัยนิยม ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนก็ชอบบุคลิกของพวงมาลัยแบบนี้ครับ ขับความเร็วสูงออกแนวตึงมือนิดๆ พร้อมๆกับการตอบสนองแบบแม่นยำตามธรรมชาติ หักองศาเท่าไหร่รถเลี้ยวได้ตามใจคิด รวมๆแล้วควบคุมได้นิ่งเนียนมั่นใจ              …แต่จะว่าไปถ้ากรณีขับช้าๆหรือวนหาที่จอด พวงมาลัยอาจจะหนักมือไปสักนิดสำหรับคุณผู้หญิง ยิ่งเป็นรุ่น 1.4LTZ ใช้ยางขอบ 16 ซีรีส์ 205/45 อาจจะใช้กำลังมากขึ้นอีกหน่อย ซึ่งพวงมาลัยของโซนิคถือว่าหนักกว่าคู่แข่งทุกยี่ห้อในตลาดแน่นอน
 นอกจากนี้ถ้าวัดกันที่ออปชันอำนวยความสะดวกและปลอดภัย ต้องยอมรับว่า“เชฟโรเลต โซนิค”ไม่ได้โดดเด่นกว่าซับคอมแพกต์รุ่นอื่นๆ หรือเทียบกับรุ่นพี่ๆในตระกูลที่ชอบชูเทคโนโลยีใหม่ๆมาโดยตลอด อย่างรุ่นล่าง LS ไม่มีทั้งเบรก ABS และถุงลมนิรภัย ส่วนรุ่น LT มีเบรก ABS และถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับลูกเดียว ขณะที่ตัวท็อป LTZ จะเพิ่มเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้
ด้านอัตราบริโภคน้ำมัน หลังทดสอบกันค่อนข้างโหด (มี 120-140กม./ชม.เป็นหลัก และสลับรถติดในเมือง) โดยรุ่นเกียร์อัตโนมัติ LTZ มีมาตรวัดอัจฉริยะมาให้ ซึ่งผู้เขียนเห็นผลหลังจากขับไปร่วม 200 กิโลเมตร สรุปตัวเลขประมาณ 10 กม./ลิตร อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่จีเอ็มแอบบอกผู้เขียนว่า รุ่นเดียวกันนี้ถ้าขับแบบปกติในชีวิตประจำวัน สามารถทำตัวเลขได้ 12 กม./ลิตรสบายๆ
     รวบรัดตัดความ…ละทิ้งทุกความโบราณของอาวีโอไว้เบื้องหลัง ดีไซน์ภายนอก-ภายในทันสมัยสะดุดตา แม้เรี่ยวแรงอาจจะไม่จี๊ดจ๊าดเมื่อเทียบกับซับคอมแพกต์จากญี่ปุ่นที่วางเครื่องยนต์ 1.5 แต่สิ่งที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัดความนิ่งเงียบภายในห้องโดยสาร และช่วงล่างแน่น-ทรงตัวยอดเยี่ยม ขณะที่การนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังไม่ได้อึดอัด หรือขยับขยายได้พอๆกับ “ฟอร์ด เฟียสต้า”และ “มาสด้า 2”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น